น้ำผึ้งกับประโยชน์ทางการแพทย์

น้ำผึ้งกับประโยชน์ทางการแพทย์

น้ำผึ้งผลิตจากน้ำหวานที่ผึ้งสะสมจากดอกไม้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยน้ำตาลประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นน้ำ แร่ธาตุ กรด โปรตีนบางชนิด และสารชนิดอื่น ๆ คุณประโยชน์ทางการแพทย์ของน้ำผึ้งนั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและมีการใช้น้ำผึ้งช่วยรักษาโรคหลากหลายชนิดมาอย่างยาวนาน

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย เนื่องจากมีสารบางชนิดที่อาจสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้แม้ระหว่างการผลิต น้ำผึ้งจะเจือปนด้วยเชื้อโรคจากตัวผึ้ง ต้นพืช และฝุ่น แต่คุณสมบัติในการต้านเชื้อโรคก็ทำให้มั่นใจได้ว่าสารอินทรีย์ส่วนใหญ่ที่เจือปนจะไม่อาจอยู่รอดหรือสืบพันธ์ุจนเพิ่มจำนวนขึ้นใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าน้ำผึ้งอาจมีคุณประโยชน์ในด้านการให้สารอาหาร เร่งให้แผลสมานตัวเร็วขึ้้น ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและทำให้ผ้าพันแผลไม่ติดแน่นไปกับแผลหากทาลงบนผิวหนัง และอื่น ๆ อีกมากมาย ประโยชน์ของน้ำผึ้งที่เคยได้ยินมานั้นสามารถเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ที่มีการแบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ คือ ได้ผล (Effective) น่าจะได้ผล (Likely Effective) อาจได้ผล (Possibly Effective) อาจไม่ได้ผล (Possibly Ineffective) น่าจะไม่ได้ผล (Likely Ineffective) ไม่ได้ผล (Ineffective) และยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ (Insufficient Evidence to Rate) ได้ระบุประสิทธิภาพในการใช้น้ำผึ้งรักษาโรคต่าง ๆ ไว้ดังต่อไปนี้

การรักษาที่อาจได้ผล

แผลไหม้ มีการศึกษาพบว่าการทาน้ำผึ้งลงบนผิวหนังที่เกิดแผลไหม้นั้นอาจช่วยในการรักษาแผลได้ งานวิจัยหนึ่งที่ชี้ถึงประโยชน์ข้อนี้ของน้ำผึ้งก็คือ การทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาแผลไหม้ของผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งเปรียบเทียบกับยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver Sulfadiazene) ในคนไข้ที่มีแผลไหม้ระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ตามร่างกายน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 108 ราย ผลปรากฏว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน ผ้าพันแผลจุ่มน้ำผึ้งช่วยให้แผลปลอดเชื้อได้มากกว่า เพิ่มการสมานของแผล อีกทั้งช่วยลดการเกิดแผลเป็นนูนและแผลเป็นที่เกิดจากแผลไหม้ได้ดีกว่าการรักษาปกติ
จากการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหลายที่สนับสนุนว่าน้ำผึ้งที่เก็บจากพื้นที่ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาแผล ทั้งแผลไหม้ แผลที่ผิวหนัง แผลกระเพาะอาหาร แผลเรื้อรัง และแผลทั่วไป เนื่องจากคุณสมบัติในการสมานแผล กระตุ้นการเติบโตของเนื้อเยื่อ และลดการก่อตัวของแผลเป็น โดยให้เหตุผลว่าน้ำผึ้งอาจสามารถช่วยลดระดับของสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในขณะเดียวกันก็เพิ่มไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดต่างมีบทบาทสำคัญในกระบวนสมานแผล ต้านการอักเสบ และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาแผลนอกจากประสิทธิภาพในการรักษาแผลไหม้ น้ำผึ้งยังอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาแผลอีกหลากหลายชนิด โดยการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้น้ำผึ้งรักษาแผล มีข้อสรุปที่กล่าวว่าคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย ทำให้น้ำผึ้งสามารถช่วยรักษาแผลสดหรือแผลไหม้ระดับที่ 2 ชนิดตื้นได้อย่างเทียบเท่าหรือดีกว่าการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กหลายงานที่มีการใช้น้ำผึ้งหรือผ้าพันแผลชุ่มน้ำผึ้งทดลองรักษาแผลชนิดต่าง ๆ ได้แก่ แผลหลังการผ่าตัด แผลที่ขา แผลฝี แผลไหม้ แผลถลอก แผลถูกบาด และแผลผิวหนังบริเวณที่มีการปลูกถ่ายของผิวหนัง ซึ่งดูเหมือนว่าน้ำผึ้งอาจจะช่วยลดกลิ่นและหนองจากแผล ทำให้แผลสะอาด ลดการติดเชื้อ ลดอาการเจ็บ และส่งผลให้แผลรักษาตัวได้เร็วยิ่งขึ้นได้ ทว่าก็มีบางรายงานที่แย้งว่าการรักษาแผลด้วยน้ำผึ้งหลังจากที่ใช้การรักษาชนิดอื่นก่อนหน้าไม่ได้เกิดผลการรักษาที่ดีเช่นกัน
เบาหวาน งานวิจัยบางงานชี้ว่าการรับประทานน้ำผึ้งทุกวันส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเบาหวานลดลงได้ เช่น การศึกษางานหนึ่งที่ใช้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งหมด 48 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มรับประทานน้ำผึ้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ กับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานน้ำผึ้ง ผลสรุปว่าการบริโภคน้ำผึ้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยให้น้ำหนักและระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลงได้ แต่ในขณะเดียวกันน้ำผึ้งก็ทำให้ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดสูงขึ้นเช่นกัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
อาการไอการรับประทานน้ำผึ้งจำนวนเล็กน้อยก่อนนอนอาจช่วยลดอาการไอในเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยงานวิจัยสำรวจประสิทธิภาพของการใช้น้ำผึ้งเปรียบเทียบกับการใช้ยาแก้ไอเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) รสน้ำผึ้ง และการไม่ใช้การรักษาใด ๆ กับเด็กอายุ 2-18 ปี จำนวน 105 คน การทดลองแบ่งออกเป็น 2 วันติดต่อกัน วันแรกคือเมื่อมีอาการแสดงซึ่งจะไม่มีการใช้ยาใด ๆ และวันที่ 2 ที่จะให้รับประทานน้ำผึ้งหรือยาแก้ไอรสน้ำผึ้งก่อนนอน หรือไม่ให้รับประทานยาใด ๆ ปรากฏว่าผู้ปกครองของเด็กให้คะแนนความพึงพอใจต่อการใช้น้ำผึ้งสูงสุดในการช่วยลดอาการไอตอนกลางคืนและอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทำการวิจัยกับเด็กอายุ 24-60 เดือน จำนวน 139 คน ที่มีอาการไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนเช่นเดียวกัน โดยให้แบ่งกลุ่มรับประทานน้ำผึ้ง ยาแก้ไอเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ยาแก้ไอไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และกลุ่มสุดท้ายรักษาตามอาการ ผลลัพธ์ชี้ว่าการรับประทานน้ำผึ้ง 2.5 มิลลิลิตรก่อนนอนช่วยบรรเทาอาการไอจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ดีกว่ายาแก้ไออีก 2 ชนิด
โดยสาเหตุที่น้ำผึ้งอาจช่วยบรรเทาอาการไอได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป็นเพราะรสหวานของน้ำผึ้งจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำลาย ทำให้มีการหลั่งของมูกในทางเดินหายใจตามมาด้วย และส่งผลให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นและบรรเทาอาการไอได้ในที่สุด
เยื่อบุช่องปากอักเสบจากการฉายรังสี ประโยชน์ของน้ำผึ้งในด้านนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยการศึกษาบางงานที่ชี้ว่าน้ำผึ้งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเยื่อบุช่องปากอักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉายรังสี โดยงานวิจัยหนึ่งกล่าวว่าการบริโภคน้ำผึ้ง 20 มิลลิลิตร หรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำผึ้งแปะบริเวณแผล สามารถช่วยลดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ อาการกลืนลำบาก และน้ำหนักตัวที่ลดลงเนื่องจากการรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอได้ สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในคนไข้จำนวน 28 ราย พบว่าการทาน้ำผึ้ง 15 มิลลิลิตรหลังจากการรับการรักษาด้วยรังสีบำบัดทุก 5 ครั้ง ให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของน้ำผึ้งต่อการรักษาโรคต่าง ๆ ตามข้างต้นโดยอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มี ในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในระดับที่อาจได้ผลเท่านั้น ซึ่งจัดว่าน่าเชื่อถือน้อยกว่าระดับที่น่าจะได้ผลหรือระดับที่ได้ผล ทำให้ยังไม่มีการแนะนำให้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง การเลือกใช้น้ำผึ้งรักษาโรคดังกล่าวจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและความเหมาะสมในการใช้

ความปลอดภัยในการใช้น้ำผึ้ง

การทดลองรับประทานหรือใช้น้ำผึ้งทาลงบนผิวหนังโดยคาดหวังคุณประโยชน์ในการรักษาโรคใด ก็ตามนั้นน่าจะใช้ได้อย่างปลอดภัย ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้กรณีต่อไปนี้
  • การรับประทานน้ำผึ้งอาจไม่ปลอดภัยต่อทารกและเด็กที่ยังเล็กอยู่มาก อย่าให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือนรับประทานน้ำผึ้งดิบ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเกิดพิษจากสารโบทูลินั่มต่อร่างกายได้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็กที่โตกว่านี้หรือผู้ใหญ่
  • หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรน่าจะสามารถรับประทานน้ำผึ้งในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย แต่การรับประทานในปริมาณมากเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์นั้นยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ เพื่อความปลอดภัย หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้งเพื่อการช่วยรักษาโรคต่าง ๆ
  • น้ำผึ้งที่ผลิตจากน้ำหวานของดอกโรโดเดนดรอน (Rhododendrons) อาจไม่ปลอดภัยเมื่อนำมารับประทาน เพราะน้ำผึ้งชนิดนี้ประกอบด้วยสารพิษที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก รวมถึงปัญหาหัวใจชนิดร้ายแรงอื่น ๆ
  • ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้งที่ผลิตมาจากเกสรดอกไม้ด้วยเช่นกัน
  • ปฏิกิริยาต่อยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ
    • น้ำผึ้งเองอาจมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด หากรับประทานร่วมกับยาเหล่านี้อาจทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือฟกช้ำได้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) และยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
    • น้ำผึ้งอาจทำปฏิกิริยากับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือดได้เช่นกัน และส่งผลให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้ เช่น กานพลู กระเทียม ขิง โสม แปะก๊วย และอื่น ๆ
    • ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับน้ำผึ้ง ทำให้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้มากขึ้น
  • ปริมาณที่ปลอดภัยต่อการใช้
    • การใช้น้ำผึ้งเพื่อรักษาอาการไอ ควรรับประทานที่ปริมาณ 2.5-10 มิลลิลิตร ก่อนนอน
    • การใช้น้ำผึ้งรักษาแผลต่าง ๆ สามารถทาลงบนผิวหนังได้โดยตรงหรือใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งแปะไว้ ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุก 24-48 ชั่วโมง และอาจใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำผึ้งนี้ได้นานถึง 25 วัน โดยควรมีการสำรวจดูแผลทุก ๆ 2 วัน กรณีที่ใช้ทาบนผิวหนังโดยตรงให้ใช้น้ำผึ้งในปริมาณ 15-30 มิลลิลิตรทาทุก 12-48 ชั่วโมง แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาดหรือผ้าพันแผล
ที่มา: https://www.pobpad.com/
 731
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์